
การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนานั้น สามารถกล่าวโดยสรุปว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ต่อชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาคือ อัตถะ เป็นประโยชน์, หิตะ มีการเกื้อกูล, สุขะ มีความสุข ซึ่งจะพบว่า หลักธรรมทุกๆ ข้อในทางพระพุทธศสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงประโยชน์ใน 3 ระดับ แต่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ เพียงแต่เป็นประโยชน์ไว้ในระดับใดอยู่ที่การสามารถสัมผัสได้ในขณะนั้นๆ เป็นหลัก การจะดูว่า เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ต้องดูในภาคของการปฏิบัติว่า หลักธรรมเหล่านั้น สามารถเกื้อกูลแก่ตน คนอื่นหรือไม่ การจะดูว่า ผลจากการปฏิบัติจะเกื้อกูลหรือไม่ จึงต้องตรวจสอบที่ผลสำเร็จว่า อำนวยความสุขให้แก่ตน คนอื่นมากน้อยแค่ไหนเพียงไรหรือไม่ อุดมการณ์เหล่านี้อาจจะแตกต่างกันในด้านภาษา แต่จะลงกัน สมกันในด้านเนื้อหา ที่เป็นผลสัมผัสจากการปฏิบัติถูกทางของบุคคลในยุคสมัยนั้นๆ เช่น พระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ว่า
ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขันธสีมา รักษาประชาชนและมนตรี
ภารกิจในการขับเคลื่อนเข้าสู่อุดมการณ์ที่ทรงวางไว้ ทรงทำด้วย บังอบายเบิกฟ้า ด้วยการ ฝึกฟื้นใจพลเมือง คือ ปิดประตูทางเสื่อม เปิดประตูทางเจริญ ด้วยการฝึกปรืออบรมประชาชน เน้นหนักไปในระดับศีลธรรมจรรยา ให้ประชาชนภายในชาติเป็นคนดีมีศีลธรรม สำนึกบาปบุญ คุณโทษ กลัวบาปกรรม นรก มีความพอใจยินดีในการทำความดี ที่อำนวยความสุขให้ในขณะนั้นๆ และกาลต่อมา ทั้งบุญนั้นจะติดตามตัวไปในภพชาติต่อๆ ไป ตบแต่งภพชาติของตนให้ประณีตขึ้น เพียงเท่านี้ก็สร้างคนให้มีวินัยในตนเอง มีความพร้อมที่จะเว้นบาป เพียงเพราะอายผีสางเทวดา และพร้อมที่จะทำความดีด้วยสำนึกว่า คนไม่เห็นผีสางเทวดาก็รู้เห็นการกระทำของตน สามารถพัฒนาสำนึกของตนให้กอปรด้วยหิริ โอตัปปะเป็นหลักใจ เรือนใจ ฐานของใจ คุณมีคุณธรรมเพียงเท่านี้ ก็สามารถบริหารจัดการองค์กรให้มีความสุขความเจริญได้แล้ว
พระพุทธศาสนาเป็นหลักกรรมวาที เป็นวิริยวาที
หลักการสำคัญในทางพระพุทธศาสนาในฐานะเป็น กรรมวาที คือ กล่าวถึงผลทั้งหลายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และในการกระทำนั้นเองจะต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง จึงเรียกว่า วิริยวาที กรอบของความพยายามคงอยู่ในหลัก 4 ประการข้างต้น คือ พยายามในการป้องกันความชั่ว พยายามในการลด ละ ความชั่ว พยายามในการพัฒนาความดี และพยายามในการรักษาสืบสานความดี หรืออาจจะพูดวิธีการบริหาร คือ การป้องกัน การบำบัด การบำรุง และการรักษา
กระบวนการของกรรมที่ต้องทำด้วยความพยายามดังกล่าวนั้น ทำให้กระบวนการของกรรมแบ่งออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ กรรมในกาลอดีตกาลนานไกล กรรมในกาลอดีตใกล้ และกรรมในกาลปัจจุบัน แสดงว่าชีวิตของคนจะประสบผลในทางใดก็ตาม มีความเกี่ยวข้องกับกรรม ชีวิตคนในแต่ละชาติจึงเชื่อมโยงอยู่กับกรรม 3 ประเภท คือ
1. อปราปรเวทนียกรรม กรรมในอดีตกาลนานไกล ที่เคยกระทำไว้ในชาติปางก่อน นับจากชาติปัจจุบันไปจากชาติลำดับที่ 3 เป็นต้นไป เนื่องจากมีกรรม 2 ประเภทเป็นหลัก อันได้แก่กรรมดีกับกรรมชั่ว กรรมในอดีตจึงมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ใครจะมีกรรมอะไรมากกว่ากันขึ้นอยู่กับการกระทำของคนเหล่านั้นเป็นประการสำคัญ คนที่สร้างบารมีธรรมมามากแสดงว่ามีกรรมดีมาก ทำให้คนเหล่านั้นอยู่ในฐานะที่ท่านเรียกว่า บุพเพกตปุญญตา ท่านมีบุญที่ได้กระทำมาในกาลก่อน ขอบข่ายของกรรมประเภทนี้อาจจะแบ่งออกได้ทั้ง 3 กาล แต่ถ้าทำบาปไว้มาก ท่านเรียกว่า บุพเพกตปาปกรรม คือ กรรมที่เป็นบาปได้กระทำมาในกาลก่อน ที่ครอบคลุมกรรมในกาลทั้ง 3 เช่นเดียวกัน
2. อุปปัชเวทนียกรรม กรรมที่ทำไว้ในชาติปัจจุบัน อาจเป็นปีก่อนๆ เดือนก่อนๆ หรือวันก่อนๆ และในขณะนั้นๆ คงเป็นได้ทั้งบุญและบาป ตามเจตนาที่บุคคลกระทำลงไป ทุกขั้นตอนของชีวิตไม่ว่าจะเป็นการบริหาร การจัดการ อะไรก็ตาม หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาจึงมาเริ่มที่ การบริหารตนของคนแต่ละคนก่อน กระบวนการของกรรม ที่เป็นผลจากความพยายามทั้งทางถูกและทางผิด ล้วนมีส่วนอย่างสำคัญในการบริหารจัดการทุกกรณี โครงสร้างหลักของชีวิตจึงมีความเชื่อมโยงกันทั้งในอดีตไกล อดีตใกล้ และปัจจุบันดังกล่าว ท่านจำแนกเป็นรูปของสมบัติ 4 และวิบัติ 4 คือ
วิบัติ 4 จุดอ่อน ความบกพร่องในจุดต่างๆ กลายเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาการในหลายๆ ด้านของชีวิติ จำแนกเป็น 4 ประการ คือ
1. คติวิบัติ ในช่วงยาวนานเกิดจากบาปกรรมที่ตนเองกระทำไว้ในอดีต จิตใจถูกกำกับด้วยผลบาปหรือถูกครอบงำด้วยอำนาจของกิเลส เป็นเหตุให้ระบบการคิด การทำ การพูดของตน เป็นปัญหาอุปสรรคต่อตนหรืออาจจะอยู่ในสถานที่เกี่ยวข้องกับคนที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาตน
2. อุปธิวิบัติ ความวิบัติของรูปร่าง บุคลิกภาพ สุขภาพ ร่างกายพิกลพิการ ไม่สง่างาม งดงาม มีโรคมาก สุขภาพไม่ดี
3. กาลวิบัติ กาลเสีย หมายถึงเกิดมาในยุคสมัยที่คุณสมบัติของตนไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ผู้ปกครองสังคมมีปัญหาด้านคุณธรรม มีปัญหาอาชญากรรม เศรษฐกิจ จริยธรรมมาก และแพร่หลาย
4. ปโยควิบัติ ความวิบัติของการประกอบ การกระทำ ความประพฤติขาดความสำนึกดี ไม่มีความรับผิดชอบ ใฝ่ต่ำ ฝักใฝ่ในความชั่ว คนชั่ว หมกหมุ่นอบายมุข เป็นต้น เป็นคนประเภทมืดมามืดไป
(พระเทพดิลก : ระแบบ ฐิตญาโณ)
2 ความคิดเห็น:
HI,
I am Yuphaphat. I found your blog and your name from searching location. My parents live in Pak kret. Anyway, I read part of your ThammaKnowledge and I like it.
Thank you.
Thank You for your comment, I will prepare the best thing to everybody.
แสดงความคิดเห็น