
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มีนามเดิมว่า ประจวบ นามสกุล เนียมหอม กำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2469 ที่หมู่บ้านโรงจีน ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี บิดาชื่อ คง มารดาชื่อ ท้อน มีบุตร 6 คน ท่านเป็นบุตรคนโต เมื่อตอนเป็นเด็ก ท่านตัวเล็ก ผอมสูง และไม่ค่อยจะแข็งแรงมากนัก จึงเข้าเรียนช้า โดยปกติเด็กทั่วไปจะเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาตามเกณฑ์ เมื่ออายุ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ท่านเข้าเรียนเมื่ออายุ 10 ปี ที่โรงเรียนเฉลียววิทยา วัดเหนือบางแพ ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาล อยู่ใกล้บ้านนั่นเอง เรียนอยู่ 2 ปี จบชั้นประถมปีที่ 2 ชีวิตก็หักเหเข้าสู่เส้นทางธรรม
บรรพชาเป็นสามเณร
เมื่ออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 ณ วัดเหนือบางแพ ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน) วัดสัตตนารถปริวัตร อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูนาถ สุมโน เจ้าอาวาสวัดเหนือบางแพ เป็นพระศีลาจารย์ เรื่องที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรนี้มีปฐมเหตุ คือในระหว่างที่ท่านเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 นั้น มีตำรวจชื่อเอิบ ผลเอนก มีศักดิ์เป็นพี่เขย รับราชการอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ลามาอุปสมบทจำพรรษาที่วัดเหนือบางแพ ได้ขอท่านมาเป็นลูกศิษย์ถือปิ่นโตให้ เมื่อออกพรรษาแล้ว ก่อนลาสิกขาออกไปรับราชการ ได้ชักชวนให้ท่านเข้ามาบวช ท่านจึงไปขออนุญาตจากมารดา แต่มารดาไม่เห็นด้วย และไม่ยอมอนุญาต ท่านเสียใจมากถึงกับร้องไห้ ถึงตอนนี้โยมมารดาคงจะสงสารหรือหมั่นไส้ก็ไม่ทราบ จึงอนุญาตให้บวช โดยพูดประชดออกมาว่า "เอ็งอยากจะบวชก็บวช บวชแล้วก็ให้บวชจนตาย เอ็งอย่าสึกออกมานะ" เมื่อท่านเล่าถึงตอนนี้ ท่านจึงพูดแบบตลกว่า "คงจะเป็นเพราะปกาศิตของโยมแม่คำนี้กระมังที่เราไม่ได้สึก ทั้งที่เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันสึกออกไปเกือบหมดแล้ว" เป็นที่น่าเสียดายว่า โยมมารดาของท่านถึงแก่กรรมไปนานแล้ว หากยังมีชีวิตอยู่ และทราบว่า บุตรคนโตของท่าน นับตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณร อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางคดีโลก และคดีธรรม จนกระทั่งจบการศึกษาถึงชั้นปริญญาเอก เป็นพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการบริหาร และการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏแล้ว คงจะมีความชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ครั้นบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านก็ยังคงเรียนต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในขณะเดียวกันก็ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม ที่วัดเหนือบางแพควบคู่กันไปด้วย เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 และเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ก็สอบนักธรรมชั้นตรีได้ เมื่ออายุได้ 14 ปี ชีวิตในวัยเยาว์ช่วงนี้ก็แปลกเหมือนกัน เพราะท่าเรียนทางโลกทางธรรมควบกันมาตั้งแต่แรก ซึ่งในสมัยนั้นโรงเรียนประชาบาลให้สามเณรเรียนในชั้นกับเด็กได้ ท่านก็พูดถ่อมตนเสมอว่า ท่านหัวไม่ดี เรียนไม่เก่ง แต่ก็ชอบเรียน ชอบอ่านหนังสือ ก็สอบผ่านมาเรื่อยๆ บางทีก็เรียนจบก่อนคนหัวดี คงเป็นเพราะมีอิทธิบาท 4 นั่นเอง (ทรงวิทย์ แก้วศรี)
เข้ามาอยู่วัดมกุฏกษัตริยาราม

ถึงปี พ.ศ.2483 อายุได้ 14 ปี เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ เรื่องมีอยู่ว่า ท่านพระครูวิบูลธรรมคุต (เปรียญ 6 ประโยค ต่อมาลาสิกขาเข้ารับราชการทหารเป็นพันโทวิบูล สิริสุภาส) ซึ่งเป็นพระครูคู่สวดกับพระครูวิจิตรธรรมคุณ (ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม) ฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ท่านผู้นี้มีศักดิ์เป็นญาติและคุ้นเคยกับโยมบิดาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จึงได้ขอฝากสามเณรบุตรชายมาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ด้วย เดิมทีนั้นจะอยู่ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แต่มีเหตุขัดข้องบางประการ ท่านพระครูวิบูลธรรมคุตจึงได้ขอฝากให้อยู่กับเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายี) สมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งดำรงสมศักดิ์ที่พระเทพกวี ซึ่งมีพระศาสนโศภณ (แจ่ม จัตตสัลโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม โดยออกปากว่า "ขอฝากเณรน้องชายมารับใช้อยู่ด้วยสักองค์หนึ่ง" ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชก็ทรงยินดีรับ
ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2483 ในปีเดียวกันนั้น ท่านพระครูวิบูลธรรมคุต ก็ได้นำไปฝากให้อยู่กับสมเด็จพระสังฆราช วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทอดพระเนตรเห็น ได้ตรัสกับพระครูวิบูลธรรมคุตว่า "นี่หรือน้องชาย นึกว่าโตแล้ว ตัวกะเปี๊ยกแค่นี้หรือ ไม่เป็นไรมาอยู่ด้วยกัน" ท่านจึงได้อยู่กับสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น จวบจนวินาทีสุดท้ายที่สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กันตาจาโร) ได้สร้างผลงานให้แก่วงการคณะสงฆ์และสาธารณประโยชน์มากมาย ในด้านการศึกษา เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริยาราม และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมบาลี และแผนกสามัญศึกษา มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2516 ที่ ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถระ)
ด้านสาธารณูปการ ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม ได้ก่อสร้างอาคารเรียน อาคารที่พักอาศัย อุโบสถ หอประชุมมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (วัดชูจิตธรรมาราม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา) รวม 50 หลัง
นอกจากนี้ ได้ก่อสร้างศาลาการเปรียญและกุฏิที่พักอาศัยที่สำนักปฏิบัติธรรมมกุฏคิรีวัน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รวมทั้งให้ความอนุเคราะห์โรงพยาบาล

การปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ท่านได้เดินทางไปร่วมฉลองพุทธชยันติ ณ ประเทศญี่ปุ่น และไปเยี่ยมทหารไทยที่ประเทศเกาหลี เป็นริเริ่มก่อตั้งวัดญาณรังษีที่รัฐเวอร์จีเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และเดินทางไปดูการพระพุทธศาสนาที่ประเทศต่างๆ ในภาคพื้นยุโรป
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระกิตติสารมุนี พ.ศ.2515 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี
พ.ศ.2517 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี พ.ศ. 2528 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมธัชมุนี
พ.ศ.2536 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฎที่ พระธรรมปัญญาจารย์
ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้เข้ารับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระพุทธชินวงค์"
นับเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับในแวดวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย เพราะสมเด็จฯ ถือเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หลังจากสำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยแล้ว ท่านได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยบันนารัส ประเทศอินเดีย ในสาขาศาสนาและปรัชญา
ถือเป็นพระเถระชั้นสมเด็จพระราชาคณะรูปเดียวและรูปแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
ยังไม่นับรวมถึงวิทยฐานะในการศึกษาด้านอื่นๆ เช่น พระปริยัติศึกษานักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 5 ประโยค จบสามัญศึกษา ประโยคเตรียมอุดมศึกษา (ม.8) ประโยคครู พ., และ ประโยคครู พ.ป. เป็นต้น
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้คลุกคลีอยู่กับงานด้านบริหารมาอย่างยาวนาน รวมทั้งได้ทุ่มเวลาให้กับการศึกษามาโดยตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มาจนถึงปัจจุบัน ได้ขยายวืทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยอย่างมากมาย
ด้วยการมองการณ์ไกลของการขยายการศึกษาสู่ท้องถิ่น ได้เป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์วังน้อย (มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย) เป็นวิทยาเขตแห่งแรกของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ได้เปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา
วิยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ถือเป็นศูนย์การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยที่สมบูรณ์พร้อม นอกจากบริเวณกว้างขวางกว่า 700 ไร่ ยังได้จัดสัดส่วนของสิ่งก่อสร้างได้อย่างดีเยี่ยม มีอาคารเรียน หอพัก หอฉัน ห้องสมุด อุโบสถและศูนย์อนามัยขนาดย่อม
ด้วยความตั้งใจที่จะให้วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัยนี้ เป็นสถานศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรที่ด้อยโอกาสและเป็นแหล่งผลิตศาสนทายาทที่มีคุณภาพแล้ว ยังขยายการศึกษาไปที่วัดไผ่ดำ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีด้วย
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีความรอบรู้ทั้งในทางคดีโลกและคดีธรรม
เป็นพระมหาเถระนักบริหารชั้นสูงรูปหนึ่งของประเทศไทย ทั้งในฐานะกรรมการมหารเถระสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ในขณะเดียวกัน ยังดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นพระมหาเถระผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารระดับสูงยิ่ง
ชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จึงควรที่สาธุชนทั่วไปจะได้ยึดถือเป็นทิฏฐานุคติเป็นแบบอย่างสืบไป. (หนังสือพิมพ์ข่าวสด)
ข่าวประกาศ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กันตาจาโร) มหาเถระ อดีตเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 เวลา 16.00 น. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ส่วนวันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ตั้งแต่เวลา 16.30 น. มีพิธีสวดพระพุทธมนต์ และสวดพระอภิธรรม ณ ศาลา 13 วัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ จึงแจ้งให้บรรดาศิษยานุศิษย์ และสาธุชน ผู้เคารพศรัทธาในพระเดชพระคุณร่วมงานนี้โดยพร้อมเพรียงกัน