วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?
ปัญหาเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร? ก็ศึกษาได้จากพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปฐมเทศนาแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี มีข้อความแสดงชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ 4 เพราะปฐมเทศนานั้นมีลักษณะตรัสรายละเอียดการบรรลุธรรมของพระองค์แก่พระสาวก หรือเป็นพระธรรมเทศนาที่ปฏิญญาณการตรัสรู้ของพระองค์แก่พระสาวก จึงควรได้กำหนดเนื้อหาสาระของปฐมเทศนาไว้โดยสังเขป
ในชั้นแรก พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการปฏิบัติส่วนสุด 2 อย่าง คือ การติดอยู่ในกามสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไปประการหนึ่ง และการปฏิบัติทรมานตนให้ลำบากเปล่า ไม่ได้ประโยชน์ที่ประสงค์ เป็นการปฏิบัติที่ตรึงเกินไปอีกประการหนึ่ง ตรัสว่า บรรพชิตผู้แสวงหาโมกษะไม่พึงติดอยู่ในการปฏิบัติส่วนสุดทั้งสองนั้น แล้วทรงเสนอทางปฏิบัติที่ทรงค้นพบใหม่ คือ อริยมรรคมีองค์ประกอบ 8 อย่าง พร้อมด้วยผลที่จะติดตามมาคือ ความรู้ ความดับทุกข์ และนิพพาน
ในขั้นต่อไป ทรงแสดงรายละเอียดของอริยสัจแต่ละข้อ เป็นการบอกขอบเขตของอริยสัจแต่ละข้อว่า หมายถึงอะไรบ้าง ในกรณีที่ใช้ศัพท์ตรงกับลัทธิศาสนาอื่น จะเห็นได้ว่า ทางพระพุทธศาสนามีขอบเขตของศัพท์อย่างไร คือขอบเขตของทุกข์ที่ตรัสว่า เป็นความจริงอันประเสริฐ ขอบเขตของตัณหาที่ตรัสว่าเป็นเหตุของทุกข์ ความหมายของความดับทุกข์ที่ว่า เป็นอริสัจอันประเสริฐ รายละเอียดของมรรคที่ตรัสว่าเป็นทางพ้นทุกข์อันประเสริฐ
ต่อจากนั้น ทรงแสดงหลักเกณฑ์ของการรู้อริยสัจแต่ละข้อว่า จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์ ทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ทุกข์นี้เราได้กำหนดรู้แล้วฯ ความจริงอันประเสริฐคือแดนเกิดของทุกข์ คือแดนเกิดของทุกข์นี้ควรละเสีย แดนเกิดของทุกข์นี้เราได้ละเสียแล้วฯ ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้ เราได้ทำให้แจ้งแล้วฯ ความจริงอันประเสริฐคือความดับทุกข์ ทางดับทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้มีเกิดขึ้น และเราได้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว (เรียกว่า สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ในอริยสัจ 4) รวมเป็นญาณ 12 ในอริยสัจ 4
การปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้ ในตอนท้ายของปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสลักษณะที่ทรงปฏิญญาการตรัสรู้ของพระองค์ แก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์เป็นใจความว่า "ภิกษุทั้งหลาย ตลอดกาลเพียงไร ที่ญาณทัศนะเครื่องรู้เห็นตามความเป็นจริงของเรา อันมีปริวัฎสาม มีอาการสิบสอง ในอริยสัจ 4 เหล่านี้ ยังไม่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดีตลอดกาลเพียงนั้น เรายังไม่ปฎิญญาว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"
"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ญาณทัศนะเครื่องรู้เห็นตามความเป็นจริงของเรา อันมีปริวัฎสาม มีอาการสิบสอง ในอริยสัจ 4 เหล่านี้ บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี เมื่อนั้น เราจะปฎิญญาว่า เป็นผู้ได้ตรัสรู้แล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ปฐมเทศนาเป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่ารายละเอียดของความรู้ที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ จนเป็นเหตุให้พระองค์ปลงพระทัยว่า ได้ตรัสรู้แน่นอนแล้ว และเป็นคำตอบอย่างชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อะไร

รูปแบบอันสมบูรณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การตรัสรู้ คือ การเข้าถึงรูปแบบอันสมบูรณ์ของผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ พระสัมมาสัมพุทธะทุกพระองค์มีแบบฉบับคุณสมบัติอย่างเดียวกัน อยู่ในฐานะเป็นศาสดาเอกในโลก เป็นเอกบุคคลของโลก รูปแบบอันสมบูรณ์ของผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธะนั้น คือ
  • เป็นพระอรหันต์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
  • เป็นผู้ได้ตรัสรู้อย่างถูกต้องตามเป็นจริงด้วยตนเอง
  • เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา 8 และจรณธรรมทั้งหลาย
  • เป็นผู้เสด็จไปดีแล้วในทุกสถานและตรัสธรรมงามทุกประการ
  • เป็นผู้รู้จัดแจ้งโลกตามความเป็นจริงโดยปราศจากความเคลือบแคลง
  • เป็นผู้ฝึกบุคคลที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีใครยิ่งไปกว่า
  • เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
  • เป็นผู้ตื่นแล้วจากความลับทุกๆ ด้าน
  • เป็นผู้จำแนกแจกธรรมแก่ปวงสัตว์ในระดับต่างๆ
  • เป็นผู้แสดงธรรมบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงทุกประการ (รศ.สุวรรณ เพชรนิล)